ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา

ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ Applied Taxonomic Research Center (ATRC)

ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์

Applied Taxonomic Research Center (ATRC)

 

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

 

          “ศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านอนุกรมวิธานประยุกต์ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและศูนย์ให้บริการเกี่ยวกับอนุกรมวิธานของพืชท้องถิ่น โดยเฉพาะพืชสมุนไพรและละอองเรณูที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ การตรวจหาลายพิมพ์ดีเอ็นเอและโครโมโซมเพื่อใช้ประโยชน์กับผลิตผลการเกษตร การใช้ดัชนีทางชีววิทยา ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์ แมลงน้ำ และสาหร่าย ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

 

 

กลยุทธ์การบริหาร

            ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ (Applied Taxonomic Research Center: ATRC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทาง ที่มีโครงสร้างการบริหารงานภายใต้การกำกับดูแล และการสนับสนุนงบประมาณของ ฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2545 จนถึงปัจจุบันนี้โดยมีคณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ดูแลในด้านนโยบาย คือ การกำหนดทิศทาง อนุมัติแผนงานและแผนงบประมาณประจำปี  ออกระเบียบและข้อบังคับในการดำเนินงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์วิจัยฯ

              ในการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ได้ดำเนินการวิจัยโดยเน้นการศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานของทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ   ทั้งพืช สัตว์และ จุลินทรีย์ เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านอนุกรมวิธานของพืชสมุนไพร (Herbs) การจำแนกชนิดละอองเรณูที่มีต่อโรคภูมิแพ้ (Pollen Identification for Allergy) การตรวจหาลายพิมพ์    ดีเอ็นเอและโครโมโซมเพื่อใช้ประโยชน์กับผลิตผลการเกษตร (DNA Fingerprint for Agricultural Crops) และการจำแนกประเภทดัชนีทางชีววิทยาที่ใช้สำหรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Classification of Bioindicators for Environmental Assessment) โดยใช้ดัชนีทางชีววิทยา ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์    แมลงน้ำ และสาหร่าย นอกจากนั้น ได้มีการประยุกต์งานวิจัยเพื่อพัฒนาไปสู่การวิจัย เชิงพาณิชย์ ได้แก่   การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าเพื่อการค้าในประเทศไทย การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสาหร่าย เกลียวทองเพื่อการค้า เป็นต้น

               จากผลการดำเนินงานนี้ ได้มีการศึกษาและสำรวจเพื่อรวบรวมแพลงก์ตอนสัตว์ แมลงน้ำ และสาหร่าย เพื่อเป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพน้ำในประเทศไทย การสำรวจและศึกษาพันธุ์ไม้เพื่อจัดทำฐานข้อมูลของพืช การสำรวจและศึกษาละอองเรณูและสปอร์ของพืช เพื่อจัดทำฐานข้อมูลละอองเรณูและสปอร์ของพืช รวมทั้งเห็ดราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การศึกษาความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร เช่น กระชายดำ พืชวงศ์ขิง ชมพู่ หว้า และเห็ด เป็นต้น การมีส่วนร่วมของนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกในการศึกษาวิจัย การสนับสนุนให้มีการนำเสนอผลงานวิจัย การตีพิมพ์ผลงานวิจัย การจัดประชุมสัมมนาวิชาการ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติจำนวนมากมาย จนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการให้บริการวิชาการแก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการด้านการค้า นักเรียน นักศึกษา และอาจารย์จากสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์ในประเทศไทย รวมทั้งนักวิจัยในต่างประเทศอีกด้วย การเผยแพร่ผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำจดหมายข่าว การจัดทำเว็บไซต์ การจัดทำโปสเตอร์และบอร์ดประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์วิจัย และการจัดทำวีดีทัศน์ศูนย์วิจัยฯ